Wednesday 1 October 2008

คาวาซากิ

คาวาซากิ (Kawasaki disease) โรคนี้มาจากไหน

คาวาซากิ (Kawasaki disease)คือกลุ่มอาการของโรคที่ประกอบด้วยไข้สูง มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง และเยื่อบุผิว และต่อมน้ำเหลืองที่คอโตโรคนี้นับวันจะพบมากขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศไทย

การให้การวิเคราะห์โรคแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะภายใน 5-7 วันของโรคซึ่งมีความสำคัญมาก เพื่อรีบให้การรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นที่หัวใจ และหลอดเลือด และเมื่อเป็นโรคนี้แล้ว ก็ควรได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องจนผู้ป่วยหายจากโรค และปลอดภัย

สาเหตุ : ยังไม่ทราบ
เพศ : พบได้ทั้งสองเพศ แต่พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง
อายุ : พบในเด็ก โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 8 ปี พบบ่อยในช่วงอายุ 1-2 ปี

อาการ และอาการแสดงของโรค
1. ไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ถ้าไม่ได้รับการรักษาสูงนานประมาณ 1-2 สัปดาห์ บางรายอาจนาน 3-4 สัปดาห์
2. ตาแดง ตาขาวจะแดง 2 ข้าง ไม่มีขี้ตา และเป็นหลังมีไข้ประมาณ 1-2 วัน และเป็นอยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์
3. มีการเปลี่ยนแปลงของริมฝีปากและช่องปาก จะมีริมฝีปากแห้งแดง และผิวหนังอาจแตกแห้งหลุดลอกได้ ภายในอุ้งปากจะแดง และลิ้นจะแดงคล้ายลูกสตรอเบอร์รี่ (Strawbery tongue)
4. มีการเปลี่ยนแปลงที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า โดยจะบวมแดง ไม่เจ็บ หลังจากนั้นจะมีการลอกของผิวหนังบริเวณปลายนิ้วมือ และนิ้วเท้า (ประมาณ 10-20 วันหลังมีไข้) และลามไปที่ฝ่ามือฝ่าเท้า บางรายเล็บอาจหลุดได้ หลังจากนั้นบางราย 1-2 เดือนจะมีรอยขวางที่เล็บ (Beau's line)
5. ผื่นตามตัวและแขนขา มักเกิดหลังมีไข้ 1-2 วัน และมีได้หลายแบบ และผื่นอยู่นาน 1-2 สัปดาห์
6. ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต พบประมาณร้อยละ 50-70 ของผู้ป่วย ขนาดโตกว่า 1.5 ซ.ม. ไม่เจ็บ
7. อาการแสดงอื่น ๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วย ได้แก่ ปวดตามข้อ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ ท้องเสีย เป็นต้น

ปัญหาสำคัญของโรคนี้ คือ เกิดโรคแทรกซ้อนที่หัวใจ และหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ (Coronary Artery) พบประมาณร้อยละ 20-30 ถ้าไม่ได้รับการรักษา
โรคแทรกซ้อน ที่หัวใจ และหลอดเลือด ได้แก่ เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ ทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว และหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ (Coronary Artery) อักเสบเกิดเป็นหลอดเลือดแดงโป่งพอง (Aneurysm) ซึ่งอาจเกิดที่หลอดเลือดเส้นเดียว ตำแหน่งเดียว หรือเกิดหลายเส้นเลือด และหลายตำแหน่งก็ได้ โดยพบความผิดปกติดังกล่าวได้ในช่วง 10-28 วันของโรค ถ้าเกิดโรคแทรกซ้อนมาก และรุนแรง อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ (ประมาณร้อยละ 1-2)

การวินิจฉัย
อาศัยประวัติ และการตรวจร่างกายพบความผิดปกติดังกล่าวร่วมกับการวิเคราะห์แยกโรคจากสาเหตุอื่น ร่วมกับการตรวจเลือดการทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ภายรังสีทรวงอก ก็สามารถให้การวิเคราะห์โรคนี้ได้ภายใน 4-6 วันของโรค หลังจากนั้นทำ Echocardiogram เพื่อตรวจดูว่ามีโรคแทรกซ้อนที่หัวใจ และหลอดเลือดหรือไม่
การรักษา
เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุ แต่พบว่าเมื่อให้ Immunoglobulin ขนาดสูง (2 กรัม/กก. หรือ 400 มก./กก./วัน นาน 4 วัน) ร่วมกับแอสไพริน โดยให้ก่อนวันที่ 9 ของโรคจะสามารถลดอุบัติการ และความรุนแรงของโรคแทรกซ้อนที่หัวใจลงได้

ถ้าผู้ป่วยมีโรคแทรกซ้อนที่หัวใจมีเส้นเลือดแดงโป่งพอง จะต้องทานแอสไพรินขนาดต่ำ (3-5 มก./กก./วัน) วันละครั้งจนกว่าจะหาย ในรายเป็นมากมีเส้นเลือดโป่งพองขนาดใหญ่กว่า 8 ม.ม. บางรายอาจเกิดก้อนเลือดที่บริเวณหลอดเลือดโป่งพองได้ ต้องให้ยากันแข็งตัวของเลือดร่วมด้วยกับแอสไพรินขนาดต่ำจนกว่าจะปลอดภัย หรือขนาดของเส้นเลือดโป่งพองกลับสู่ปกติ

การพยากรณ์โรค และการดำเนินโรค
โดยมากผู้ป่วยหายได้เป็นปกติหลังได้รับยารักษา สามารถเล่นและทำกิจกรรมเหมือนเด็กปกติทั่วไป มีเพียง 5-7% ที่มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนที่หัวใจ มีเส้นเลือดโป่งพอง ซึ่งมีน้อยรายที่เส้นเลือดโป่งพอง มีขนาดเกิน 8 มม. ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ จึงควรให้รับการรักษาดูแลอย่างต่อเนื่องจากแพทย์ รวมทั้งบางรายอาจต้องทำ exercise test และการสวนหัวใจ เพื่อวางแผนกทางการรักษาต่อเนื่องได้อย่างถูกต้อง

ที่มา : แผ่นพับบริษัท ส.เจริญเภสัชเทรดดิ้ง จำกัด